วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558


ความเป็นมาของชนชาติไทย



ความเป็นมาของชาติไทย

     ประเทศไทยาเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน  จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ทำให้ทราบภูมิหลังของการตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทยในสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์  ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้ได้สร้างความเจริญต่าง ๆ บนผืนแผ่นดินไทยจนพัฒนาเป็นชุมชนเมือง  และแว่นแคว้นต่าง ๆ ดังจะได้ศึกษาต่อไปนี้

การสร้างอาณาจักรของรัฐไทยในดินแดนประเทศไทยในอดีต

          เมื่อมนุษย์รู้จักรวมตัวกันอยู่เป็นชุมชน  มีการแบ่งหน้าที่กันในสังคม  ทำให้เกิดมีผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง  คนที่อยู่ในเมืองส่วนหนึ่งเป็นคนพื้นเมืองเดิม  แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นคนที่อพยพมาจากเมืองอื่น  เนื่องจากมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันทางด้านการค้าขายและวัฒนธรรมกับเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป  และจากการตั้งหลักแหล่งเป็นเมือง  จึงปรากฎหลักฐานว่า  เมืองต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกันมีการรวมกลุ่มพัฒนาเป็นแคว้น  และอาณาจักร  ตามลำดับ
.อาณาจักราตามพรลิงค์

ตามพรลิงค์  เป็นอาณาจักรสำคัญตั้งอยู่แถบชายฝั่งทะเลในดินแดนภาคใต้ของไทย  มีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช  ซึ่งเป็นที่ตั้งที่เหมาะในการติดต่อค้าขายกับเมืองต่าง ๆ ทั้งทางบกและทางทะเล  เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ตามพรลิงค์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  นครศรีธรรมราช  และเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านพระพุทธศาสนา  โดยได้ติดต่อกับลังกาและรับเอาพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท  ลัทธิลังกาวงศ์มาปฏิบัติอย่างแพร่หลาย
               อาณาจักรนครศรีธรรมราชมีความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ กับดินแดนทางภาคกลางและภาคเหนือ  เช่น  ละโว้  หริภุญชัย  สุพรรณภูมิ  สุโขทัย  พระพุทธศาสนา  จึงได้เผยแผ่ไปยังสุโขทัยและหัวเมืองอื่น ๆ

.อาณาจักรโคตรบูร

                 โคตรบูร  เป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่บริเวณสองฟากแม่น้ำโขง  มีอาณาเขตอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และครอบคลุมไปถึงตอนกลางของประเทศลาวในปัจจุบัน  คือ  บริเวณตั้งแต่จังหวัดหนองคาย  เวียงจันทน์  นครพนม  สกลนคร  ไปจนจดเขตอุบลราชธานี  สันนิษฐานว่า  ศูนย์กลางของอาณาจักรโคตรบูรน่าจะอยู่ที่จังหวัดนครพนม
               โบราณสถานสำคัญของอาณาจักรโคตรบูร  คือ  พระธาตุพนม  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  บริเวณนี้ได้มีการยอมรับและนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว


.อาณาจักรทวารวดี

    ทวารวดี  เป็นอาณาจักรสำคัญที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองในดินแดนประเทศไทย  เมื่อประมาณ 1,500 ปี มาแล้ว  หรือในราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 16
               จากหลักฐานที่พบ  ทำให้สันนิษฐานว่าศูนย์กลางความเจริญของอาณาจักรทวารวดี  น่าจะอยู่ที่บริเวณจังหวัดนครปฐม  ราชบุรี  หรือบริเวณอำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี  ทวารวดีเป็นอาณาจักรที่ได้รับวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนามาจากอินเดีย  ศิลปวัฒนธรรมในสมัยทวารวดีมีอิทธิพลสืบทอดต่อมาจนถึงในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นผลงานทางด้านศิลปกรรม  ซึ่งเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
.อาณาจักรละโว้

ละโว้  เป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 - 19  และเคยาเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรทวารวดีมาก่อนจนพัฒนาเป็นอาณาจักรละโว้  และแผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมดินแดนภาคกลางตอนบน  และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยบางส่วน
               อาณาจักรละโว้  เป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา  ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ละโว้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอม   ทำให้ได้รับอิทธิพลจากขอม   ละโว้จึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม   ทำให้มีศิลปะหลากหลายแบบ  ทั้งแบบพระพุทธศาสนาแบบฮินดู  และแบบขอม

.อาณาจักรศรีวิชัย

เป็นอาณาจักรโบราณที่มีความเจริญรุ่งเรืองราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 18  มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่บางส่วนทางภาคใต้ของไทย  และคาบสมุทรมลายู  เกาะสุมาตรา  และเกาะชวา  โดยสันนิษฐานว่าศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะอยู่ที่บริเวณอำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  และเมืองปาเล็มบัง  ประเทศอินโดนีเซีย
               และเนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัยมีอาณาเขตติดทะเล  จึงมีการติดต่อค้าขายกับเมืองอื่น ๆ และรับเอาวัฒนธรรมจากเมืองเหล่านั้นมาด้วย  โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูจากอินเดีย

.อาณาจักรหริภุญชัย

       หริภุญชัย  เป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของอาณาจักรสุโขทัย  มีอาณาเขตอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนและแม่น้ำวัง  มีนครลำพูนหรือหริภุญชัยเป็นศูนย์กลางความเจริญ  ตามตำนานกล่าว่า  เริ่มก่อตั้งอาณาจักรราวพุทธศตวรรษที่ 13  จากตำนานจามเทวได้เล่าไว้ว่า  พระนางจามเทวีพระราชธิดาของกษัตริย์ละโว้ (ลพบุรี)  ได้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของนครและทรงได้ขยายอำนาจของอำนาจของอาณาจักรออกไปอีก  โดยสร้างเมืองเขลางค์ (ลำปาง)  ขึ้นไปและโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชโอรสองค์เล็กไปครองเมือง
               อาณาจักรหริภุญชัยสิ้นสุดลง  เมื่อพญามังรายผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนายกกองทัพมาตีเมืองหริภุญชัย  ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 (ประมาณ พ.ศ. 1824 - 1836)

.อาณาจักรล้านนา


  อาณาจักรล้านนา  นับเป็นอาณาจักรร่วมสมัยกับอาณาจักรสุโขทัย  ตั้งอยู่ทางเหนือของอาณาจักรสุโขทัย  ตั้งอยู่ทางเหนือของอาณาจักรสุโขทัย  ซึ่งมีอาณาเขตอยู่บริเวณที่ราบเมืองเชียงใหม่และลำพูน
               พญามังรายแห่งเมืองเชียงรายเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ  ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ รวมทั้งอาณาจักรหริภุญชัยไว้ในอำนาจได้หมด  ต่อมาใน พ.ศ. 1839  พระองค์ได้ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา
               ในสมัยของพญามังราย  พระองค์ได้ทรงวางรากฐานความเจริญไว้ให้กับอาณาจักรล้านนา  ทำให้ล้านนาขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง  และมีความเจริญรุ่งเรืองทุกด้าน  ทั้งด้านศิลปกรรม  อักษรศาสตร์  ศาสนา  โดยเฉพาะทางด้านศาสนานั้นมีความรุ่งเรืองมาก  ดังจะเห็นได้จากศิลปกรรมที่สืบทอดมาถึงรุ่นหลัง  เช่น  การสร้างวัด  พระพุทธรูป  และพระเจดีย์ต่าง ๆ
               ในพุทธศตวรรษที่ 22 ล้านนาเริ่มมีฐานะไม่มั่นคงนัก  จนมาถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทยในสมัยของรัชกาลที่ 4  ถือเป็นการสิ้นสุดของอาณาจักรล้านนา

          จาการศึกษาร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์  และร่องรอยหลักฐานที่เป็นโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  และหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า  ดินแดนในประเทศไทยมีอารยธรรมและความเจริญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนในชุมชนอื่น ๆ

ขอขอบคุณ http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/1613-00/

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558







วิธีการนับศักราช

      การศึกษาประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก นักประวัติศาสตร์จึงได้แบ่งเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคสมัยของมิติเวลา ดังนี้
     การศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พบว่ามีการระบุเวลาเมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นๆ โดยระบุเป็นปีศักราช จุดเริ่มต้นของศักราชที่ 1 จะเริ่มนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสมัยต่างๆ จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของศักราชต่างๆ ด้วย เพราะจะช่วยให้ทราบว่าในปีนั้นๆ มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง การนับปีศักราชนับว่าเป็น ภูมิปัญญาของมนุษย์สมัยโบราณ ศักราชมีทั้งแบบสากลและแบบไทย ดังนี้

       ๑.      การนับปีศักราชแบบสากล

-                   คริสต์ศักราช หรือ ค.ศ. โดยใช้เหตุการณ์สำคัญทางคริสต์ศาสนาเป็นจุดเริ่มต้น เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเยซูประสูติเป็นปี ค.ศ. 1 สำหรับช่วงเวลาก่อนพระเยซูประสูติให้เรียกเป็น ก่อนคริสต์ศักราช (ก่อน ค.ศ. หรือ B.C = Before Christ)

-                           ฮิจเราะห์ศักราช หรือ ฮ.ศ. ฮิจเราะห์มาจากภาษาอาหรับ แปลว่า การอพยพ   เป็นการนับศักราชในประเทศที่มีการนับถือศาสนาอิสลามโดยเริ่มนับ ฮ.ศ. 1 เมื่อท่านนบีมูฮัมหมัดนำเหล่าสาวกอพยพจากเมืองเมกกะไปยังเมืองเมดินา ตรงกับพุทธศักราช 1165 หากจะเทียบ ปีฮิจเราะห์ศักราชเป็นปีพุทธศักราช จะต้องบวกด้วย 1122 เพราะการเทียบรอบปีของฮิจเราะห์ศักราชและพุทธศักราช จะมีความคลาดเคลื่อนทุก ๆ 32 ปีครึ่งของฮิจเราะห์ศักราชจะเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี เมื่อเทียบกับพุทธศักราช

      ๒.    การนับศักราชแบบไทย

-                   พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชที่นิยมใช้ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา มีการใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และใช้กันอย่างเป็นทางการของประเทศไทย ครั้งแรกใน พ.ศ. 2455 แทนรัตนโกสินทร์ศก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยประเทศไทยเริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ 1 ปี เป็น พ.ศ. 1

-                   มหาศักราช (ม.ศ.) นิยมใช้มากในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทศิลาจารึกและพงศาวดารต่าง ๆ ทั้งสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยาตอนต้น มหาศักราชถูกตั้งขึ้นโดยพระเจ้า กนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ กษัตริย์ผู้ครองอินเดีย โดยเริ่มภายหลังพุทธศักราช 622 (มหาศักราชตรงกับ พ.ศ. 622)

-                   จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นศักราชที่ได้รับอิทธิพลจากพม่า โดยพระมหากษัตริย์ของพุกาม เริ่มใช้นับครั้งแรกในพม่า พ.ศ. 1182 และใช้แพร่หลายเข้าสู่อาณาจักรล้านนา โดยเริ่มภายหลังพุทธศักราช 1181 ปี ไทยนิยมใช้จุลศักราชในการคำนวณทางโหราศาสตร์ ใช้บอกปีในจารึก ตำนาน จดหมายเหตุ พงศาวดาร จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกาศยกเลิก และมีการใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) แทน

-                   รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นศักราชที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทรงกำหนดใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2325 โดยเริ่มนับปีที่ได้มีการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีใน พ.ศ. 2325 เป็น ร.ศ. 1 และได้ประกาศยกเลิกใช้ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

3. การเทียบศักราช

      การนับศักราชที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและสากล ดังนั้น การเทียบศักราชให้เป็นแบบเดียวกัน จะช่วยให้สามารถศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ได้เข้าใจมากขึ้น  ตลอดจนทำให้ทราบถึงช่วงศักราชหรือช่วงเวลาเดียวกัน               ในแต่ละภูมิภาคของโลกเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ศึกษาอย่างแท้จริง  จึงต้องมีการเทียบศักราช จากศักราชหนึ่งไปยังอีกศักราชหนึ่ง โดยคำนวณจากศักราชทั้งสองมีช่วงเวลาที่แตกต่างกันอยู่กี่ปี  แล้วนำไปบวกหรือลบแล้แต่กรณี
หลักเกณฑ์การเทียบศักราช โดยคำนวณหาเกณฑ์บวกลบเฉพาะพุทธศักราช (พ.ศ.) มีดังนี้
พุทธศักราช          มากกว่า         คริสต์ศักราช              543  ปี
พุทธศักราช          มากกว่า         มหาศักราช                621  ปี
พุทธศักราช          มากกว่า         จุลศักราช                  1181  ปี
พุทธศักราช          มากกว่า         รัตนโกสินทร์ศก       2324  ปี
พุทธศักราช          มากกว่า         ฮิจเราะห์ศักราช        1122  ปี

การเทียบศักราชในระบบต่างๆ สามารถนำมาเปรียบเทียบให้เป็นศักราชแบบเดียวกัน ได้ดังนี้
ม.ศ. + 621           =             พ.ศ.                       พ.ศ. 621           =             ม.ศ.
จ.ศ. + 1181          =             พ.ศ.                       พ.ศ. 1181         =             จ.ศ.
ร.ศ. + 2324          =             พ.ศ.                       พ.ศ. 2324         =             ร.ศ.
ค.ศ. + 543           =             พ.ศ.                       พ.ศ. 543           =             ค.ศ.
ฮ.ศ. + 1122         =             พ.ศ.                       พ.ศ. 1122         =             ฮ.ศ.

จากพุทธศักราชเปลี่ยนเป็นคริสต์ศักราช  ให้นำ พ.ศ. ลบ 543   ตัวอย่างเช่น พ.ศ. 2549 เปลี่ยนเป็น ค.ศ. โดยนำ 543 มาลบออก  ( 2549543 ) ปี ค.ศ. ที่ได้คือ 2006
จากคริสต์ศักราชเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช  ให้นำ ค.ศ. บวก 543   ตัวอย่างเช่น ค.ศ. 2004 เปลี่ยนเป็น พ.ศ. โดยนำ 543 มาบวก  ( 2004 + 543 )  ปี พ.ศ. ที่ได้คือ 2547
จากจุลศักราชเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช  ให้นำ จ.ศ. บวก 1181   ตัวอย่างเช่น จ.ศ. 1130 เปลี่ยนเป็น พ.ศ. โดยนำ 1181 มาบวก  ( 1130 + 1181 )  ปี พ.ศ. ที่ได้คือ 2311
จากรัตนโกสินทร์ศกเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช  ให้นำ ร.ศ. บวก 2324   ตัวอย่างเช่น ร.ศ. 132 เปลี่ยนเป็น พ.ศ. โดยนำ 2324 มาบวก  ( 123 + 2324 )  ปี พ.ศ. ที่ได้คือ 2456

4. การนับทศวรรษ  ศตวรรษและสหัสวรรษ

ทศวรรษ คือ การนับระยะเวลาในรอบ 10 ปี
ศตวรรษ คือ การนับระยะเวลาในรอบ 100 ปี
สหัสวรรษ คือ การนับระยะเวลาในรอบ 1000 ปี



ขอขอบคุณ  http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/bangkok/malaiwan_c/historym1/unit01_01.html
วิธีการทางประวัติศาสตร์

วิธีการทางประวัติศาสตร์มีอยู่ 5 ขั้นตอน คือ

       ๑.       การกำหนดหัวเรื่องที่ต้องการจะศึกษา
การศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ควรเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้ทราบจุดประสงค์การศึกษาให้แน่ชัด ซึ่งเราจำเป็นจะต้องตั้งคำถามในสิ่งที่ต้องการศึกษา และใช้การอ่านและสังเกตในการตอบคำถาม นอกจากนี้ ก็ควรต้องมีความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ให้มากเพียงพอ เพื่อที่จะสามารถตอบได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

       ๒.     การรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
การรวบรวมหลักฐานที่ต้องการศึกษา มีทั้งที่เป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจอแบ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ออกได้เป็น หลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิกับ หลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิดังต่อไปนี้
1) หลักฐานชั้นต้น (Primary Sources) เป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆโดยตรง เช่น หลักฐานทางราชการ ประกาศ สุนทรพจน์ บันทึกความทรงจำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้เห็นเหตุการณ์ วีดิทัศน์ ภาพยนตร์ หรือภาพถ่าย เป็นต้น
2) หลักฐานชั้นรอง (Secondary Sources) เป็นหลักฐานที่ทำขึ้นจากหลักฐานชั้นต้น บุคคลที่สร้างขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง แต่ได้รับรู้โดยผ่านบุคคลหรือผลงานอื่น
ด้วยเหตุนี้ หลักฐานชั้นต้นจึงมีความสำคัญมากกว่าหลักฐานชั้นรอง อย่างไรก็ตาม หลักฐานชั้นรองจะเป็นตัวช่วยในการอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และเป็นตัวช่วยที่จะนำไปสู่หลักฐานข้อมูลอื่นๆ การค้นคว้าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ควรมองให้รอบด้านและระมัดระวัง เนื่องจากหลักฐานทุกประเภทมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน

        ๓.      การประเมินคุณค่าของหลักฐานที่ได้มา
ก่อนจะนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้ามาได้มาศึกษา จะต้องมีการประเมินคุณค่าของหลักฐานนั้นเสียก่อน ว่าเป็นหลักฐานที่แท้จริงหรือไม่เพียงใด โดยการประเมินคุณค่าของหลักฐานนี้ อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การวิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ได้แก่

1) การประเมินคุณค่าภายนอกหรือวิพากษ์วิธีภายนอก คือ การประเมินคุณค่าของหลักฐานจากลักษณะภายนอก และเนื่องจากบางครั้งหลักฐานอาจมีการปลอมแปลงให้ผิดไปจากความเป็นจริง หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือการค้า ดังนั้น การประเมินข้อเท็จจริงของเอกสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ  โดยการประเมินวิธีภายนอก จะพิจารณาจากสิ่งที่ปรากฏภายนอกเป็นหลัก เช่น การพิจารณาเนื้อกระดาษ ที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามีที่มาจากชาติไหน เป็นต้น

2) การประเมินคุณค่าภายในหรือวิพากษ์วิธีภายใน คือ การประเมินคุณค่าของหลักฐานโดยอาศัยข้อมูลภายในหลักฐานนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อบุคคล’ ‘สถานที่หรือ เหตุการณ์ยกตัวอย่างเช่น หากในหลักฐานเชื่อกันว่าเป็นหลักฐานสมัยสุโขทัย แต่เนื้อหาภายในมีการกล่าวถึงสหรัฐอเมริกา ก็ควรตั้งข้อสงสัยว่าหลักฐานนั้นอาจไม่ใช่หลักฐานสมัยสุโขทัยจริง เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่เข้ามาในสมัยสุโขทัย

       ๔.      การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดหมวดหมู่ข้อมูล
หลังจากแน่ใจแล้วว่าหลักฐานนั้นเป็นของแท้ และให้ข้อมูลที่เป็นจริงตามประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาก็ต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์นั้นสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด หรือข้อมูลนั้นๆมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นอย่างไรบ้าง หลังจากนั้น จึงนำเอาข้อมูลทั้งหลายมาแบ่งหมวดหมู่ตามความเหมาะสม เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินงานขั้นต่อไป
ขั้นตอนต่อไป คือ การพยายามหาความสัมพันธ์ของประเด็นต่างๆ และตีความข้อมูลนั้นๆว่า มีข้อเท็จจริงอื่นใดที่ยังคงถูกซ่อนและไม่กล่าวถึงอีกบ้าง รวมไปถึงการพิจารณาด้วยว่า ข้อมูลที่ได้มานั้นกล่าวเกินจริงไปหรือไม่ ซึ่งผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นต้องมีความละเอียดรอบคอบ เป็นกลาง รอบรู้ หรือมีจินตนาการ เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ หรือจัดหมวดหมู่ได้อย่างเป็นระบบ 

        ๕.     การเรียบเรียงหรือการนำเสนอข้อมูล
หลังจากดำเนินขั้นตอนมาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ก็จะมาจบลงที่การเรียบเรียงหรือการนำเสนอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่จะขมวดเอาข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน และนำเสนอให้ตรงกับประเด็นหัวเรื่องที่สงสัย รวมไปถึงการสืบหาความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ เพื่อจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ให้กลับมาใหม่อีกครั้ง
สำหรับขั้นตอนการนำเสนอ ผู้ศึกษาจะต้องอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีเหตุมีผล และมีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการปิดท้ายด้วยข้อเสนอแนะ เพื่อนำทางให้ผู้ที่สนใจคนอื่นๆได้ศึกษาต่อไป

ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีจำเป็นต้องจำลองอดีตด้วยความถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด โดยการใช้ วิธีการทางประวัติศาสตร์ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในอดีต และนำมาสู่ความเข้าใจในปัจจุบันนั่นเอง

ขอขอบคุณ http://www.siam.today/ประวัติศาสตร์